Big Boy Goes Banana! พลังประชาชน มีชัยเหนือทุนนิยม

untitled

Big Boy Goes Banana! เป็นภาพยนตร์สารคดีว่าด้วยเรื่องของผู้กำกับชาวสวีเดนที่ไปเหยียบเท้าบริษัทผลไม้ยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างDole เป็นหนังที่ถ่ายทำเพื่อบอกเล่าเรื่องราวระหว่างผู้กำกับคนนี้ถูกยักษ์ใหญ่ไล่บี้

เนื่องจากผู้กำกับคนนี้ทำหนังสารคดีว่าด้วยการทำฟาร์มกล้วยในอเมริกาใต้ของบริษัทDole ว่ามีการใช้สารเคมีบลาๆ ซึ่งคดีนี้ก็ถูกฟ้องและถูกศาลตัดสินไปแล้วว่าDoleผิดจริง แต่Doleกำลังอุทธรณ์อยู่ ผู้กำกับสวีเดนก็ทำหนังขึ้นมาชื่อเรื่อง Banana และกำลังจะนำไปฉาย แต่ทางDole ก็รู้เห็นว่าจะมีการฉายหนัง ซึ่งทางDoleกล่าวอ้างว่าเป็นข้อมูลเท็จทำให้บริษัทเสียหาย

อย่ากระนั้นเลยDoleก็จัดการส่งหมายเตือนไปเลยว่าห้าฉายนะ ไม่งั้นฟ้องตูดบานนะ บีบผู้จัดเทศกาลหนังว่าถ้าเอ็งฉายก็จะโดนฟ้องด้วยนะ บลาๆ บีบหนักมาก ช่วงแรกของหนังเรื่องนี้ได้แต่สงสารเลยว่าผู้กำกับและหนังเจ้าปัญหาโดนหนักมากจริงๆ จนสุดท้ายก็พยายามจนฉายได้ แม้จะโดนDoleเปิดเกมเร็วด้วยการใช้สื่อโจมตีผู้กำกับก่อนในหลายๆแง่ และก็เกิดกระบวนการฟ้องร้องกันตามมานี่แหละ ทางDoleไล่บี้หนักจริงๆ ไม่ว่าใครก็ตามที่เอ่ยถึงหนังเรื่องนี้ หรือสัมภาษณ์ผู้กำกับคนนี้ แม้จะเป็นรายเล็กย่อย ทีวีท้องถิ่นก็ตาม Doleจัดการติดต่อไปหมดเลย หูตาทิพย์มากๆ จนกระทั่งทางผู้กำกับก็ลุกขึ้นมาฟ้องDoleกลับด้วยเช่นกัน

ผู้กำกับก็กลับมาสู้คดีไป ตั้งรับไป จนกระทั่งกระแสในโลกออนไลน์ถูกจุดติดว่า Doleกำลังคุกคามเสรีภาพสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชาวสวีเดนถือ(อิงจากหนังเรื่องก่อนที่ดูอย่างThe Last Sentence) ทีนี้กระแสพลิกกลับล่ะ ลูกค้าซุปเปอร์มาร์เกตก็เขียนร้องเรียนไปยังบริษัทซุปเปอร์มาร์เกตให้เลิกซื้อของจากDoleมาขาย ซึ่งซุปเปอร์ก็ทำจริงๆซะด้วย เรื่องย้ายจากข่าวบันเทิงมาเป็นข่าวเศรษฐกิจล่ะ

นอกจากนี้เรื่องก็เริ่มดังไปถึงสภาของสวีเดน หลายๆคนก็ยื่นมือเข้ามาช่วย และกดดัน จนในที่สุดDoleก็ถอนฟ้อง และต้องจ่ายค่าเสียหายให้ผู้กำกับคนนี้ จบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งไป พร้อมๆบทสรุปที่ว่าการอุทธรณ์ของDole ก็ถูกตัดสินให้ผิดจริงตามที่ตัดสินตอนแรกในการใช้สารเคมีโดยไม่สนสุขลักษณะของแรงงาน

พูดถึงตัวหนัง

เป็นหนังที่ตัดต่อและเล่าเรื่องได้อย่างสนุกมากๆ เอาจริงๆว่าหนังสารคดีส่วนมากที่ได้ดูค่อนข้างสนุกและมีประเด็นในการนำเสนอน่าสนใจหลายๆเรื่องจริงๆ ดูแล้วมันช่วยให้เราตระหนักถึงปัญหาได้จริงๆนะ ว่าเออมันก็มีเรื่องแบบนี้อยู่บนโลกนี้นะ

เรทของความน่าสนใจในการหามาดู : ควรหาเวลาดูมาก หนังดีจริงๆ ดูเพลิน

ส่วนนอกเรื่อง : ประเด็นที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้

ประเด็นแรก การจัดการของDole

ในที่นี้คือ การเอาตัวเองลงไปแลกของDole เรียกได้ว่าไม่คุ้มมากๆ ในการเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ลงไปบี้กับหนังเรื่องนี้ ไม่รู้สิส่วนตัวคิดว่าDoleไม่ควรลงไปแลกขนาดนั้น แต่ก็เข้าใจได้ว่าต้องการรักษาชื่อเสียงของบริษัทที่สร้างไว้มานาน…..เพียงแต่วิธีการไม่ควรเป็นการออกมาไล่บี้ไล่กระทืบ เพื่อปกป้องว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง เพราะการกระทำแบบนี้ยิ่งกลับทำให้คนสนใจมากขึ้นว่าDoleไปทำอะไรไว้กันแน่ แล้วยิ่งเป็นหนังเล็กๆแล้วบางทีกระแสอาจจะไม่ติดด้วยซ้ำ แน่นอนอาจจะมีคนสนใจบ้าง แต่จะเป็นกระแสต่อต้านเลย?

ถ้ากระแสมันติดขนาดนั้น มันน่าจะลุกลามตั้งแต่ตอนศาลตัดสินครั้งแรกแล้วหรือป่าว การลงไปบี้แบบนี้ รายเล็กๆยิ่งได้คะแนนน่าสงสารเข้าไปใหญ่

ประเด็นสอง การใส่ใจผู้บริโภคและสังคม

ประเด็นเรื่องความใส่ใจในผู้บริโภคและสังคมโดยรวมของสวีเดนเป็นอะไรที่น่าชื่นชมมาก กระแสการช่วยผู้กำกับคนนี้จะไม่เกิดเลย ถ้าผู้ใช้สินค้ายังไม่แคร์ที่มาของสินค้า หรือในที่นี้ไม่แคร์ผู้กำกับที่กำลังโดนริดรอนสิทธิ(แบบเมืองไทย) แต่ที่สวีเดนไม่ใช่ ทุกคนออกมาต่อต้านเมื่อรู้สึกว่ามันไม่ถูกต้อง และผู้บริหารก็ฟังลูกค้ามากๆ ส่งอีเมลล์ไปก็ได้รับการตอบกลับ ช่างแตกต่างกับเมืองไทยยิ่งนัก จนจุดกระแสต่อต้านDoleขึ้นมาได้ เพราะผู้บริโภคไม่ได้มองเพียงแค่ราคาสินค้าเท่านั้นแต่มองไปถึงจรรยาบรรณของผู้ผลิตสินค้าด้วย เป็นเรื่องที่ดีน่าเอาอย่างมากๆ

ไม่ใช่แบบเมืองไทยที่บอยคอตสินค้าและบริการกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการเมือง ทำให้คุณภาพสินค้าและบริการของไทยตกต่ำเรี่ยดินมากๆ ทำให้ทุนนิยมมีบทบาทควบคุมประชาชนมากกว่าการที่พลังประชาชนจะมีชัยเหนือทุนนิยม เป็นเรื่องน่าเศร้าอีกอย่างนึงของประเทศไทย แต่ก็เข้าใจได้เพราะรายได้ของคนไทยยังไม่เอื้อให้แก่การเพิ่มตัวเลือกในการซื้อสินค้าหรือบริการมากนัก หรือจริงๆแล้วผู้ผลิตบ้านเราไม่ได้แคร์ผู้บริโภคเท่าไหร่หรอก เพราะรู้ว่าไม่มีทางเลือก ทำให้รู้สึกว่าบางครั้งด้วยรายได้ที่จำกัดเราก็ต้องยอมซื้อสินค้าที่ไม่มีคุณภาพต่อไป

ประเด็นสาม เสรีภาพสื่อ

ประเด็นเรื่องเสรีภาพสื่อ เพราะว่าสวีเดนมีโครงสร้าง? ที่ทำให้คนคิดถึงส่วนรวม หรือช่วยเหลือปกป้องอย่างจริงใจ ไม่แพ้อำนาจเงิน มันย่อมทำให้สื่อกล้าตั้งคำถามถึงการกระทำมากขึ้น หรือบอกเล่าเรื่องราวของการกระทำมากขึ้น ซึ่งถือเป็นกระบวนการที่ช่วยในการตรวจสอบการทำงานได้เป็นอย่างดี

ต่างกับประเทศไทยลิบลับที่สื่อทำหน้าที่เป็นเพียงแค่กระบอกเสียง แต่ไม่ได้ตั้งคำถามเลยสักนิด ว่าการกระทำแบบนี้มีผลอย่างไร ปล่อยให้นักการเมืองผู้เห็นแก่ตัวมาเป็นผู้ชี้นำ สื่อในเมืองไทยจึงเป็นได้แค่กระบอกเสียงที่ไม่ได้ ไม่สามารถชี้นำอะไรสังคมได้เลย ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะชี้นำมากชีวิตก็อาจจะถึงฆาตได้ เพราะเราไม่มีกระบวนการด้านประชาชน หรือความยุติธรรมที่เพียงพอแก่การปกป้องสื่อในสังคมเลย

ทำอย่างไรที่ภาคประชาชนไทยจะตระหนักและลุกขึ้นมาสั่งสอนภาคทุนนิยมให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องได้บ้าง? ทำอย่างไรให้คนเกิดกระบวนการตั้งคำถาม กระบวนการตอบคำถามและการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ได้บ้าง?