Google The World Brain “คลังปัญญาหรือคุกความรู้”

เป็นหนังสารคดีที่มีโอกาสได้ไปดูมาในสัปดาห์ภาพยนตร์เพื่อสังคม หนังเล่าเรื่องโปรเจคเหมือนฝันของกูเกิ้ลที่จะทำการสแกนหนังสือทุกเล่มบนโลกใบนี้ เพื่ออัพโหลดขึ้นเว็บไซต์และให้คนเข้าไปอ่าน หรือง่ายๆคือกูเกิ้ลกำลังทำโปรเจคห้องสมุดของโลกนั่นเอง ซึ่งเป็นไอเดียที่ดี ดีมากๆในการเปิดโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น เสียแต่ว่ามีปัญหาข้อเดียวเท่านั้นเองที่กูเกิ้ลติดอยู่ เงินหรอ?ไม่ใช่หรอก เทคโนโลยีหรอ?ไม่ใช่อยู่ดี กำลังคนหรอ?ไม่ใช่อยู่ดี ปัญหาเดียวคือ เรื่องของ “ลิขสิทธิ์”

เพราะกูเกิ้ลเล่นสแกนมันทุกอย่างและอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ให้คนอ่านฟรีๆ  แน่นอนว่าถ้ากูเกิ้ลเริ่มโปรเจคนี้ในไทยคงได้รับเสียงชื่นชมอย่างหนาหูแน่นอน เสียแต่ดันไปเริ่มในอเมริกานี่สิ แม้กูเกิ้ลจะเอาแถบๆมาปิดกั้นแล้ว แต่ถ้าค้นดีๆก็สามารถนั่งอ่านได้ทั้งเล่มเลย หนังเล่าเรื่องตัดกันในมุมของข้อดีและข้อเสียของโครงการนี้ และพันต่อไปถึงการต่อสู่คดีความกันด้วย เพราะนอกจากจะไปทับเรื่องลิขสิทธิ์แล้ว กูเกิ้ลเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมตัวอักษรเท่าไหร่ เช่น หนังสือภาษาญี่ปุ่นปิดที่คาดเป็นแนวนอน กลอนเกี่ยวกับต้นไม้เอาไว้ในหมวดจัดสวน และเน้นภาษาอังกฤษเป็นหลัก ชนิดที่ว่าฝรั่งเศสเคืองเลยทีเดียว ยังไม่นับว่าเป็นการทำข้อตกลงกับห้องสมุดมหาวิทยาลัยใหญ่ๆแบบปกปิดระหว่างกัน และเอาหนังสือที่มีลิขสิทธิ์ในนั้นไปสแกนด้วย

พูดถึงไอเดียนี้ เป็นสิ่งที่ดีมากๆเลย ในการทำให้คนเข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลได้อย่างฟรี เป็นการกระจายฐานความรู้ให้กว้างขวางออกไปอีก ทำให้อุปสรรคในการหาความรู้ไม่ได้อยู่ที่กำแพงเงินแล้ว ย้ายมาอยู่ที่อินเตอร์เนตและอุปกรณ์แทน แต่มันก็เป็นการทำลายกระบวนการคิดและการอ่านทำความเข้าใจของคนไปอย่างช้าๆหรือป่าว ความรู้ที่ถูกต้องไม่ได้มาจากการประมวลแต่มาจากลิ้งค์แรกที่ขึ้นเวลาค้นหาข้อมูล ข้อมูลที่ถูกต้องกลายเป็นข้อมูลที่ขึ้นเป็นลิงค์แรก มันออกจะดูประหลาดไปสักหน่อยหรือป่าว

ในระยะยาวแล้วเป็นการทำลายความหลากหลายทางความคิดหรือป่าว เพราะทุกคนถูกโปรแกรมให้อ่านที่ข้อมูลแบบเดียวกัน ข้อมูลแรกที่ขึ้นเวลาค้นหา มันคงจะยากที่เราค้นหาอะไรบางอย่างแล้วจะไล่อ่านไปเป็นสิบๆหน้าเพื่อเอามาประมวลรวมกัน (ไม่นับว่าเป็นเรื่องของการศึกษานะ แต่ถ้าจะอ้างแหล่งข้อมูลจากกูเกิ้ล มันเป็นการศึกษาที่มักง่ายไปไหมเนี่ย?) เราก็คงอ่านกันแค่อันแรก หรือข้อมูลในหน้าแรกที่ขึ้นมาเพื่อความสะดวกเท่านั้นเอง ซึ่งพอทุกๆคนอ่านเหมือนๆกันความคิดที่เหมือนๆกันก็จะถูกส่งต่อๆไป (แม้ว่าจะเป็นความเชื่อที่ผิดก็ตาม) เพราะเราอยู่ในยุคสมัยที่ความถูกต้องของข้อมูลไม่สำคัญเท่าความรวดเร็วของข้อมูลแล้ว นั่นคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเท่าไหร่ ยิ่งไม่นับว่าเป็นการไปทำลายผลงานและแหล่งรายได้ของนักเขียนแล้ว

มันจึงเป็นคำถามอยู่เสมอๆว่าเราควรจะให้ความสำคัญกับอะไรกันแน่ ในเมือความเท่าเทียมของผู้ผลิตผลงานกับผู้เสพอยู่ไม่เท่ากัน หรืออาจจะเป็นการหลอกลวงของผู้เสพ ที่หวังของฟรี หรือเป็นความหน้าเงินของผู้ผลิตกันแน่ ยิ่งดูแล้วก็ไมเห็นคำตอบหรือแนวทางที่ชัดเจนว่าทางออกของเรื่องนี้ที่ควรจะเป็นคืออย่างไรกันแน่ มันออกจะเป็นการวัดเรื่องนามธรรม อย่างการกระจายความรู้ ไอเดียอันสวยงามในการให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล กับรูปธรรมอย่างเรื่องลิขสิทธิ์ ที่สุดท้ายเราก็เลือกในสิ่งที่จับต้องได้มากกว่า เพราะไอเดียนามธรรมของกูเกิ้ลที่เน้นการกระจายความรู้ มันอาจจะออกมาในบทสรุปที่กูเกิ้ลเป็นผู้ผูกขาดความรู้ทั้งหมดไว้เองก็ได้

ซึ่งสุดท้ายกูเกิ้ลก็ได้มีการทำข้อตกลงกับสมาคมนักเขียน ซึ่งผลที่ออกมากลับกลายเป็นกูเกิ้ลเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ในหนังสือเหล่านั้นและสามารถเก็บค่าอ่านได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องความเป็นส่วนตัวอีกว่า ประวัติการอ่านและการค้นหาข้อมูลทั้งหมดก็ไม่มีใครพูดถึง ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกกูเกิ้ลนำไปใช้ หรือกูเกิ้ลจะมีการปกปิดให้ขนาดไหน ซึ่งข้อตกลงนี้ก็ถูกศาลพิพากษาว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายไปแล้ว ก็ต้องมาดูต่อว่ากูเกิ้ลจะทำอย่างไร ทำคลังปัญญาให้ทุกคนเข้าถึงได้ หรือกูเกิ้ลจะจับความรู้บนโลกเข้าคุกภายใต้ลิขสิทธิ์ของกูเกิ้ล และให้เยี่ยมชมเฉพาะผู้ที่จ่ายเงิน???