บันทึกประจำวัน #3 ข้อสอบสังคม

ตอนนี้พอมีกระแสเฉลยข้อสอบสังคม โอเนต ม.6ผิดเลยลองโหลดมาดูว่าเด็กสมัยนี้เค้าเรียนอะไรกัน สอบอะไรกัน แต่ว่าพออ่านข้อสอบสังคมตอนนี้ เรากลับรู้สึกเสียใจ ที่ข้อสอบวิชาสังคม มันก็ยังเป็นข้อสอบสังคมแบบที่มันเคยเป็น ชอบเป็นแบบนี้หละ มันวัดแค่เรา”จำอะไรได้” ไม่ได้เพื่อวัดว่าเรา”เข้าใจอะไร” มันก็ยังไม่ได้มีไว้เพื่อวัดว่าเราเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์ ความผิดพลาดในอดีตบ้าง

แต่เท่าที่อ่านมา พบจุดที่สะกิดใจบางอย่าง ที่เมื่อก่อนก็ไม่เคยรู้สึกอะไร คือ ทำไมข้อสอบเน้นออกเรื่องพุทธศาสนาจัง…เรามีวิชานี้ เราเรียนวิชานี้ แต่มันแทบจะไม่แฟร์กับเด็กที่นับถือศาสนาอื่นเลย (แม้ในความเป็นจริงจะถือว่าแฟร์แหละนะ เพราะเด็กพุทธส่วนใหญ่ก็ใช่จะรู้เรื่องพุทธศาสนา เข้าวัดกันรัวๆ หรือวัดจะสอนเรื่องนี้ถ้าเราเข้า..อันนี้ไม่แน่ใจ แต่ประสบการณ์ที่ไปวัดมา ก็แทบไม่เคยเจอ) แต่ทำไมเราถึงได้ออกข้อสอบเน้นแต่ศาสนาพุทธล่ะ?? โอเค มันมีข้อสอบศาสนาอื่นด้วย แต่สัดส่วน พุทธศาสนา 8 ข้อ อิสลาม 3 ข้อ คริสต์ 2 ข้อ…ไม่น่าเรียกว่าเท่าเทียมมั้ง

ยังดีที่เอกลักษณ์เด่นของข้อสอบสังคม พวกคำถาม ปี พ.ศ.ต่างๆ มีโผล่มาน้อยมาก แต่พวกคนแรก ชาติแรก อันแรก ก็ยังมีโผล่มาเรื่อย…อันนี้ก็สงสัยเบาๆ ว่าเราจะต้องรู้ไปทำไมกัน ว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป๊ะๆ ที่ พ.ศ. ไหน เราน่าจะเรียนรู้ว่ามันเกิดแค่ช่วงสมัยไหนก็พอ และส่งผลกระทบอย่างไรในสมัยนั้น หรือส่งผลกระทบต่อมายังไงในสมัยอื่นๆจากนั้น เราควรเรียนรู้แหละว่าคนชนชาติใดถือเป็นคนพื้นถิ่น สัญญาฉบับแรกคืออะไร ชนชาติแรกที่ทำนู่นนี่นั่นคืออะไร บลาๆ คือมันมีประโยชน์ในแง่การศึกษาเรื่องราวแหละ

แต่การกลายมาเป็นคำถามหนึ่งข้อเลย รู้สึกว่ามันออกจะเกินไปหน่อยนะ คำถามแบบนี้มันไม่ได้ส่งเสริม การเข้าใจประวัติศาสตร์ เข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลย ใช้แค่ความจำล้วนๆก็ตอบได้สบายๆ แต่ตอนนี้อาจจะเพราะมองด้วยมุมมองที่โตขึ้น เราก็คาดหวังว่า คำถามควรเป็นประเภทว่าชนพื้นเมืองนั้นสำคัญ เป็นมาเป็นไปอย่างไรต่อไปมากกว่าไหม สัญญาฉบับนั้นส่งผลกระทบต่อสังคมในแง่ใดบ้าง อย่างไร คือมีมิติที่ลึกกว่า เป็นการ”เรียนรู้สังคม” มากกว่าการท่องจำว่าชื่อของสัญญาฉบับแรกที่เราเซ็นคืออะไร เพราะถ้ามันเป็นสัญญาที่สำคัญจริง ก็ยังเชื่อว่าเราควรจดจำเนื้อหาและผลกระทบของมันมากกว่าชื่อของสัญญาละนะ

พวกคำถามเชิงความเห็นก็ยังมีมาประปรายอยู่ เช่นการกระทำใดเหมาะสมคู่ควรอะไรทำนองนี้ จริงๆไม่ค่อยอยากเห็นเลย มันดูเป็นคำถามแบบยัดเยียดชุดความคิดเดียวลงไป ต้องจำแบบนี้นะ ต้องทำแบบนี้นะ ในสังคมสมัยนี้ที่มีความหลากหลายทางความคิดแล้ว มันไม่ได้พัฒนาขัดเกลาการยอมรับความแตกต่างเลย และเราก็เห็นๆกันอยู่ว่าการไม่ยอมรับความแตกต่างทางความคิดนี่ส่งผลเละเทะแค่ไหน ยิ่งมาเป็นช้อยส์ 5 ข้อแล้ว มันอธิบายความคิดและเหตุผลที่สนับสนุนลงไปไม่ได้เลย

ทำให้สิ่งที่เซอร์ไพรส์ที่สุดของเรื่องนี้กลายเป็นว่า ตอนนี้ยังมีข้อสอบโอเนต อยู่อีกหรอเนี่ย?? เข้าใจว่าเปลี่ยนมาใช้ GAT PAT หมดแล้วซะอีก หุหุ